; โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's disease) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's disease)



โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

โดย  พญ.อโณทัย  พรเลิศ  โสต ศอ นาสิกแพทย์

        โรคน้ำในหูไม่เท่ากันหรือทางการแพทย์เรียกว่าโรคมีเนียร์ (Meniere’s disease) พบเป็นสาเหตุได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการเวียนศีรษะ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีการคั่งของน้ำหรือความดันในหูชั้นในที่เพิ่มขึ้น



        หูชั้นในเป็นส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปหลังเยื่อแก้วหู ประกอบด้วยระบบการทรงตัวและระบบการได้ยิน โดยมีน้ำไหลเวียนอยู่ภายใน ภาวะใดก็ตามที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำในหูชั้นในเพิ่มมากขึ้น เช่น การสร้างน้ำในหูชั้นในที่มากขึ้น การตีบแคบของทางเดินน้ำในหูชั้นใน ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก หรือมีการดูดซึมน้ำในหูชั้นในกลับน้อยกว่าปกติ อาจส่งผลให้มีการขัดขวางการทำงานของกระแสประสาททั้งระบบการทรงตัวและระบบการได้ยิน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะรุนแรง บ้านหมุน สูญเสียการทรงตัว รวมถึงการได้ยินผิดปกติ เช่น การได้ยินลดลง แน่นหู ลมออกหูหรือมีเสียงผิดปกติอื่นในหูข้างนั้น

        โรคนี้พบได้ทุกช่วงอายุทั้งเพศชายและหญิง โดยพบบ่อยในช่วงอายุ 30-60 ปี โดยเกิดกับหูข้างเดียวได้บ่อยกว่า มีประมาณ 15 - 20% ที่เกิดกับหูทั้งสองข้าง

สาเหตุของโรค

        ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะคั่งของน้ำในหูชั้นใน มีการสันนิษฐานถึงปัจจัยที่อาจจะเป็นสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส การบาดเจ็บหรือโรคที่ทำให้มีการอักเสบของหูชั้นกลางและหูชั้นใน เป็นต้น

อาการและอาการแสดง

        น้ำในหูไม่เท่ากันเป็นโรคที่มีเกณฑ์การวินิจฉัยที่ค่อนข้างชัดเจน คือมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการผิดปกติของหูดังนี้

        - อาการเวียนศีรษะรุนแรง บ้านหมุน สูญเสียการทรงตัว มักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกร่วมด้วย โดยอาการเวียนศีรษะต่อเนื่องนานมากกว่าครึ่งชั่วโมงหรือเป็นวัน มีความรุนแรงจนบางครั้งไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

        - อาการทางหู ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นหู หูอื้อเป็น ๆ หาย ๆ สูญเสียการได้ยิน มีเสียงดังในหู อาการทนเสียงดังไม่ได้ โดยอาจมีอาการนำมาก่อนหรือพร้อม ๆ กับอาการเวียนศีรษะ ในช่วงแรกอาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หรือมีการกำเริบของโรคบ่อยครั้ง อาจส่งผลให้มีการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรได้

        ทุกอาการดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดและโรคอาจไม่แสดงอาการครบพร้อมกันในระยะแรก ความถี่และความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

การวินิจฉัย


        เนื่องจากโรคอาจไม่แสดงอาการครบในระยะแรก จึงมีโรคต่าง ๆ หลายโรคที่จำเป็นต้องวินิจฉัยแยก เช่น โรคของแก้วหูหรือหูชั้นกลาง ความผิดปกติอื่น ๆ ของหูชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บ การอักเสบติดเชื้อ หรือความผิดปกติของเส้นประสาทหูและระบบสมองส่วนกลาง ดังนั้นแพทย์จึงต้องซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย และพิจารณาส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจการได้ยิน และการส่งตรวจ CT หรือ MRI สมองและหูชั้นในต่อไป

การรักษา

        ถึงแม้โรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด และเนื่องจากยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าสาเหตุของโรคเกิดจากอะไร จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ต้นเหตุ แต่อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยยาและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง การรักษาโรคมีแนวทางดังนี้

        1. การรักษาด้วยยา

            พบว่าได้ผลร้อยละ 70 - 90 ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยาขยายหลอดเลือด ยาบำรุงประสาท ยาแก้อาการเวียนศีรษะ ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ

        2. การปฏิบัติตัว

             - พักผ่อนให้เพียงพอ
             - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และงดอาหารเค็ม
             - ลดความเครียด ทำอารมณ์ให้แจ่มใส            
             - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ
             - งดการสูบบุหรี่
             - หลีกเลี่ยงเสียงดังมาก ๆ
             - ขณะมีอาการควรหลีกเลี่ยงการขับรถ ว่ายน้ำ การปีนป่ายในที่สูง การใช้ของมีคมหรือเครื่องจักรที่มีโอกาสก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ ต้องหยุดกิจกรรมทันทีแล้วนั่งหรือนอนพัก ทานยาแก้อาการเวียนศีรษะ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์

         3.
การฉีดยาที่มีพิษต่อระบบประสาทหูและการทรงตัวเข้าไปในหูชั้นกลาง หรือการผ่าตัด จะทำเมื่อให้ยารักษาเต็มที่แล้วอาการของโรคโดยเฉพาะอาการเวียนศีรษะไม่ดีขึ้น และรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมาก